12 กันยายน 2563
900
บอร์ดแข่งขันทางการค้า ชี้ขาดควบรวม “ซีพี-เทสโก้” ต.ค.นี้ ตั้งอนุกรรมการศึกษาผลกระทบต่อธุรกิจ ซัพพลายเออร์ ผู้ค้าปลีกรายย่อย ด้านสมาคมค้าส่งค้า-ปลีก ค้าน หวั่นธุรกิจใหญ่ผูกขาดธุรกิจค้าปลีก
กระบวนการพิจารณาข้อเสนอคำขอควบรวมกิจการของบริษัทใน เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ซื้อหุ้น บริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งซีพีจะได้สิทธิในบริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ที่ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้าเทสโก้ โลตัส (Tesco Lotus) ในไทย
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ตั้งอนุกรรมการพิจารณารายละเอียดเอกสารการขอยื่นควบรวมกิจการ ซึ่งวางกรอบการทำงานให้คณะอนุกรรมการไปดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อสรุป อาทิ
1.ขอบเขตตลาดของซีพีเมื่อรวมกับเทสโก้ โลตัส แล้วเป็นอย่างไร
2.ผู้ถือหุ้นในกิจการที่มีการควบรวมกันแล้ว จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายกันอย่างไร
3.ผลกระทบกับผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างไร
4.เข้าเงื่อนไขการมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่
“คณะกรรมการฯ จะเร่งพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว คาดว่าเดือน ต.ค.นี้ จะทราบผล ซึ่งอยู่ในกรอบระยะเวลาการพิจารณา 90 วัน ยืนยันจะพิจารณาอย่างรอบคอบตามอำนาจของคณะกรรมการฯ เพราะเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญต่อตลาดค้าปลีกไทย” นายสกนธ์ กล่าว
นายสกนธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการพิจารณาโครงสร้างตลาด ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพรวมการตลาดก่อนนำมาประกอบการพิจารณา รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการควบรวมกิจการ โดยมีผู้แทนธุรกิจค้าปลีกและนักวิชาการ ทำหน้าที่พิจารณาข้อมูลที่ซีพียื่นมาเพื่อนำเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาว่าจะอนุมัติให้ควบรวมได้หรือไม่
นายสกนธ์ กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆที่มีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการฯพิจารณานั้นก็มีประมาณ 30 เรื่อง ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องค้าปลีกเพราะตลาดค้าปลีกของไทยเป็นตลาดใหญ่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนซึ่งส่วนใหญ่เป็นการร้องเกี่ยวกับการเอาเปรียบ การตั้งเงื่อนไขทำธุรกิจโดยไม่เป็นธรรม
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (สขค.) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า กลุ่มซีพีได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมอีกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการพิจารณาการควบรวมครั้งนี้จะมีมูลค่าสูงที่สุดที่คณะกรรมการฯ เคยพิจารณามา
สำหรับคณะอนุกรรมการพิจารณาการควบรวมเป็นการแต่งตั้งบุคคลภายนอกเพื่อให้ทำงานอย่างมีอิสระในการรวมศึกษาประกอบด้วยผู้แทนจาก คือ
1.สภาอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
2.สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
3.สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
4.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ทั้งนี้ ภายในเดือน ก.ย.นี้ จะมีการสรุปรายงานเบื้องต้นเพื่อเสนอคณะกรรมการแข่งขันการค้า
แหล่งข่าว กล่าวว่า การพิจารณาคำขอควบรวมกิจการจะต้องได้ข้อสรุปภายใน 90 วัน หรือช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ และถ้าพิจารณาไม่เสร็จจะต้อเวลาได้อีก 15 วัน จะทำให้การพิจารณาคำขอมีข้อสรุปช้าที่สุดภายในเดือน พ.ย.นี้ โดยผลการพิจารณาจะมี 3 แนวทาง คือ
1.อนุญาตให้ควบรวมกิจการตามคำร้อง 2.อนุญาตให้ควบรวมกิจการแบบเงื่อนไข 3.ไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ
นอกจากนี้ แนวทางการพิจารณาจะดูผลกระทบจากการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะส่วนแบ่งตลาดของผู้ควบรวมธุรกิจทั้งก่อนและหลังการรวมธุรกิจ เช่น การกระจุกตัวในตลาด การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่และการขยายการผลิตของคู่แข่งในตลาด (Entry and Expansion) ผลกระทบต่อการแข่งขันจากผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจ (Non-Coordinated Effect)
รวมถึงการพิจารณาอำนาจเหนือตลาดภายหลังการควบรวมกิจการ และผลกระทบต่อผู้ประกอบการในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีกของซีพีและเทสโก้ โลตัส เช่น ผู้ผลิตสินค้า ซัพพลายเออร์ ผู้ขนส่งสินค้า
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ คณะอนุกรรมการฯ กำลังเดินสายเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเชิญภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีก โชห่วยและเอสเอ็มอีมารับฟังความเห็นประเด็นผลกระทบจากการควบรวมกิจการ
รวมถึงความกังวลของผู้ประกอบการขนาดเล็ก ต่อตลาดการค้ากรณีการควบรวม การแข่งขันของผู้ประกอบการในตลาดค้าปลีก และจากนั้นจะรวบรวมความเห็นมาสรุปเสนอกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรให้ควบรวมกิจการ ซึ่งไม่มีประเทศใดที่ให้มีผู้ทำธุรกิจครบวงจรตั้งแต่การผลิตสินค้า การค้าส่ง ร้านสะดวกซื้อและโมเดิร์นเทรด ซึ่งปัจจุบันมีการจัดจำหน่ายสินค้าจากร้านสะดวกซื้อส่งตรงถึงมือผู้บริโภคแล้ว โดยส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งทำให้ภาคการค้าของไทยอยู่ในการควบคุมของผู้ประกอบการรายใหญ่
รายงานข่าวระบุว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อเดือน มี.ค.2563 ว่าบริษัทในเครือเจริญ โภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ทำการซื้อหุ้นบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
ทั้งนี้ การซื้อหุ้นดังกล่าวจะทำให้บริษัทในเครือซีพีได้สิทธิในบริษัทในบริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในไทยรวมทั้งซื้อหุ้นบริษัท Tesco Stores (Malaysia) Sdn.Bhd. ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย
ทำให้ซีพีได้สินทรัพย์มูลค่า 338,445 ล้านบาทแต่เงื่อนไขการซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของไทย และ Ministry of Domestic Trade and Consumers Affairs ของประเทศมาเลเซีย
สำหรับธุรกิจ Tesco Lotus ในประเทศไทย ประกอบด้วยไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขาตลาดโลตัส 179 สาขา Tesco Express 1,574 สาขา และการให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา (ข้อมูลเดือน ส.ค.2562)
ส่วนธุรกิจในมาเลเซียประกอบด้วยไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขาซุปเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขาร้านค้าขนาดเล็ก 9 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 56 สาขา (ข้อมูลเดือน ส.ค.2562) โดยเทสโก้ ประเทศมาเลเซียได้พัฒนามาเป็นผู้นำในด้านกิจการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศมาเลเซีย
September 11, 2020 at 05:58PM
https://ift.tt/3huTzks
เคาะควบรวม ซีพี-เทสโก้ ต.ค.นี้ 'ค้าปลีกรายย่อย' หวั่นผูกขาด - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/3faRoSj
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เคาะควบรวม ซีพี-เทสโก้ ต.ค.นี้ 'ค้าปลีกรายย่อย' หวั่นผูกขาด - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment