ชีพจรเศรษฐกิจโลก นงนุช สิงหเดชะ
อย่างที่ชอบพูดกันว่า “เงิน” หรือ“กำไร” นั้นไม่มีพรมแดน ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่สนระบอบการปกครอง ดังนั้น มันจึงมีสภาพเหมือนน้ำ คือ ไหลไปสู่เบื้องต่ำเสมอ ฉันใดก็ฉันนั้น สำหรับภาคธุรกิจแล้ว จะไหลไปยังทิศทางที่มองแล้วว่ามีโอกาสที่จะทำกำไร โดยไม่ได้สนใจว่าระดับรัฐบาลของพวกเขาจะขัดแย้งกันทั้งในด้านการเมืองหรือการค้าหรือไม่
สภาพที่ว่านี้กำลังเกิดขึ้นกับภาคเอกชนของอเมริกาและยุโรป ที่พากันไปลงทุนในจีนค่อนข้างคึกคัก สวนทางกับภาพที่เกิดขึ้นในระดับรัฐบาล โดยเฉพาะอเมริกาที่เปิดศึกการค้าและการเมืองกับจีนอย่างหนักมาเป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว
ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยโรเดียมระบุว่าในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมา บริษัทต่างชาติเข้าไปซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ในจีนมากขึ้นในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในทศวรรษก่อนหน้านี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นบริษัทอเมริกันและยุโรป เนื่องจากเห็นประโยชน์จากการที่รัฐบาลจีนผ่อนคลายกฎเกณฑ์ว่าด้วยการให้ต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น รวมทั้งมองเห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคชาวจีน ในจำนวนนี้พบว่าบริษัทต่างชาติจำนวนมากซื้อหุ้นใหญ่ในบริษัทร่วมทุนจีนและยื่นขอใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจการเงินมากเป็นพิเศษ
โรเดียมชี้ว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนส่งให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้นเป็นเพราะปัจจุบันจีนกำลังเป็นผู้นำในบางอุตสาหกรรมผ่านธุรกิจสตาร์ตอัพที่เฟื่องฟูมากและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ “ดังนั้น จึงเป็นครั้งแรกที่นักลงทุนต่างชาติมองว่าน่าดึงดูดใจที่จะซื้อสินทรัพย์ด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในจีนมากกว่าจะเริ่มสร้างเองจากศูนย์”
ตัวอย่างการซื้อกิจการในจีนของบริษัทต่างชาติ ตามรายงานของโรเดียม ก็อย่างเช่น โฟล์คสวาเกน ซื้อหุ้น 26% ในบริษัทผลิตแบตเตอรี่ โกวเสวียน ไฮเทค มูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ และเข้าถือหุ้นข้างมากในบริษัทที่ร่วมทุนกับอันฮุย เจียงฮวย ออโตโมทีฟ มูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์ เป๊ปซี่ ทุ่ม 700 ล้านดอลลาร์ ซื้อ Be&Cherry ซึ่งผลิตสินค้าประเภทของขบเคี้ยวกินเล่น ส่วน เจ.พี.มอร์แกน เข้าเทกโอเวอร์บริษัทจัดการกองทุนรวมมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์
มาร์ติน หว่อง หุ้นส่วนผู้จัดการแผนกประกันสำหรับอุตสาหกรรมบริการการเงินของดีลอยท์ในจีนชี้ว่า ตลาดจีนมีขนาดใหญ่ นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากมองพัฒนาการด้านธุรกิจระยะยาวในจีนมากกว่าระยะกลางหรือสั้น
อย่างไรก็ตาม การลงทุนระหว่างจีนกับบริษัทตะวันตกไม่ได้เป็นไปในลักษณะสองทาง เพราะตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีน ที่เผยแพร่ออกมาสัปดาห์ที่แล้ว พบว่า บริษัทจีนออกไปลงทุนต่างประเทศน้อยลง เนื่องจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะท่าทีของรัฐบาลสหรัฐที่แสดงออกชัดเจนว่าจะสกัดกั้นไม่ให้บริษัทจีนเข้ามาลงทุนในอเมริกา แต่ขณะเดียวกันบริษัทต่างชาติกลับลงทุนในจีนเพิ่มขึ้น โดย ณ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 9,870 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ขณะที่รัฐบาลสหรัฐแสดงออกในการปิดกั้นการลงทุนจากจีน แต่ฝ่ายจีนกลับทำตรงข้าม โดยในการประชุมระดับสูงด้านการเงินประจำปีที่เซี่ยงไฮ้สัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนได้เน้นย้ำว่าจะเดินหน้าเปิดตลาดทุนของจีนให้กับต่างชาติต่อไปเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติบางส่วนมีความกังวลเรื่องธรรมาภิบาล ตลอดจนความคล่องตัวในการทำธุรกิจ แม้ว่าจีนจะเปิดตลาดมากขึ้นก็ตาม อย่างที่ ปีเตอร์หลิง-แวนเนอรัส ประธานกลุ่มธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ของหอการค้ายุโรปในจีน บอกว่าสถาบันการเงินของจีนนับว่าเป็นหนึ่งในบริษัทใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีรัฐบาลสนับสนุนค่อนข้างมากและมีสัดส่วนเงินฝาก 20% ของเงินฝากทั้งโลกดังนั้น คงไม่ง่ายที่จะแข่งขันด้วย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องหยุมหยิมที่ได้รับเสียงบ่นจากผู้บริหารธนาคารยุโรปในจีนที่ถูกกำหนดให้ยื่นรายงานต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่ควบคุมกฎเกณฑ์จำนวนมากประมาณ 100 คนทุกเดือน ดังนั้น การดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินต่างชาติในจีนจึงเป็นไปอย่างระมัดระวัง
June 30, 2020 at 08:15AM
https://ift.tt/38bqNCl
'มะกัน-ยุโรป' โหมลงทุนจีน สวนทางขัดแย้งการเมือง-การค้า - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/3faRoSj
Bagikan Berita Ini
0 Response to "'มะกัน-ยุโรป' โหมลงทุนจีน สวนทางขัดแย้งการเมือง-การค้า - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment